เทคนิคการใช้เสียงและร้องเพลง

 "เทคนิคการใช้เสียงและร้องเพลง" (Vocal Technique & Singing)

  "สวัสดีครับ" ยินดีเป็นอย่างยิ่งที่จะถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับเทคนิคใช้เสียงเเละร้องเพลง โดยรวบรวมจากประสบการณ์การร้องเพลงเเละจากการเรียนการสอนของครูไก่ โดยเฉพาะหลักสูตร SLS ที่ครูไก่ใช้เป็นเเนวทางในการฝึกฝนและนำมาใช้ในการสอนเป็นแกนหลัก หลายคนอาจสงสัยว่า ทำไมต้องเทคนิคการใช้เสียงเเละร้องเพลงร้องเพลงอย่างเดียวไม่ได้หรือ คำตอบคือได้ครับนักร้องดังๆ นักร้องเก่งๆหลายท่านไม่ได้เรียนเทคนิคการใช้เสียง ก็สามารถร้องเพลงให้ดีได้ ครูไก่ก็เป็นคนหนึ่งที่มีการฝึกฝนจากการฟัง ลอกเลียนแบบ แล้วก็ร้องตามความเข้าใจของตัวเอง อีกทั้งได้รับการสอนจากนักร้องรุ่นพี่หลายๆท่าน เป็นเวลาเกือบ 20 ปีที่ร้องเพลงตามร้านอาหาร,สถานบันเทิงหลายที่หรือแม้แต่งาน อีเว้นท์ต่างๆมากมาย สิ่งที่ครูไก่ได้รับไม่ว่าจะเป็นค่าตอบเเทนที่เป็นเงินค่าจ้างเพื่อเลี้ยงชีพและสร้างฐานะเเล้ว แน่นอนประสบการณ์การร้องเพลงที่มากขึ้น Connectionในวงการที่ใช้ติดต่อสัมพันธ์กัน ซึ่งถือว่าคุ้มค่ามาก เเต่ก็มีสิ่งที่ไม่ประสบความสำเร็จแฝงอยู่นั่นคือ คุณภาพในการใช้เสียงที่ควรพัฒนาไปได้ไกลกว่าที่เป็นอยู่ ทำให้เกิดคำถามว่าเป็นเพราะอะไร การที่ร้องเพลงมากๆร้องทุกวันมันควรจะดีขึ้นแต่กลับแย่ลงหรือไม่ก็อยู่ที่เดิมไม่พัฒนาไปไหน หลายท่านอาจประสบปัญหานี้อยู่เช่นกัน อาจกล่าวได้ว่าสามวันดีสี่วันแย่ จนกระทั่งได้เรียนกับครูโรจน์ด้วยหลัก SLS (Speech Level Singing Teachnique) นั่นแหละครับที่ทำให้ทราบถึงสาเหตุว่าทำไมถึงย่ำอยู่กับที่หรือไม่ก็ถอยหลังเข้าคลอง

   การร้องเพลง  (Singing)

   ในทางศิลปะ นิยามของคำว่า "การร้องเพลงหรือการขับร้อง" คือการทำให้เกิดเสียงดนตรีจากเสียงและเสริมด้วยถ้อยคำทั้งระบบเสียงสูงต่ำและจังหวะ คนที่ขับร้องเพลงเรียกว่านักร้อง และนักร้องจะแสดงการขับร้องเพลง ซึ่งอาจจะร้องแบบอะแคปเปล่า (ร้องโดยไม่ใช้ดนตรี) หรือมีนักดนตรี เครื่องดนตรีประกอบ ไม่ว่าจะเป็นเครื่องดนตรีตัวเดียวหรือเต็มวง การร้องนั้นส่วนใหญ่จะร้องร่วมการแสดงกับนักดนตรีกลุ่มอื่น ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มคอรัสที่ร้องในเสียงที่แตกต่างกัน หรือกลุ่มนักเล่นดนตรี อย่างเช่นวงร็อกเป็นต้น
การร้องเพลงนั้นาอาจร้องแบบไม่เป็นทางการ ร้องเพื่อความบันเทิง อย่างเช่นร้องระหว่างการอาบน้ำ ร้องคาราโอเกะ หรือในบางกรณีร้องอย่างเป็นทางการ เช่นร้องในระหว่างพิธีทางศาสนา หรือนักร้องอาชีพร้องเพื่อแสดงบนเวทีหรือร้องในสตูดิโอ การร้องที่มีทักษะสูงหรือร้องในระดับอาชีพ มักจะต้องอาศัยความสามารถแต่กำเนิด การเรียนการสอน และการฝึกฝน[1] นักร้องมืออาชีพจะสร้างหนทางสู่อาชีพด้วยการเป็นนักร้องในแนวเพลงต่าง ๆ อย่างเช่น นักร้องคลาสสิก นักร้องร็อก พวกเขาต้องฝึกทักษะการร้องในแนวเพลงนั้น ทั้งจากครูสอนร้องหรือโค้ชร้อง ในอาชีพของพวกเขา (อ้างอิงจาก วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี)

    โดยส่วนตัวเเล้วการร้องเพลงคือ วิธีการใช้เสียง ที่มีขบวนการทำให้เกิดเสียงเช่นเดียวกับการพูด ใช้อวัยวะทุกส่วนเหมือนกันแต่รายละเอียดที่มาเสริมเติมเเต่งให้เป็นการร้องเพลงที่ไพเราะนั้นมีมากกว่าการพูด การถ่ายทอดถูกกำหนดด้วยจังหวะและท่วงทำนองด้วยช่วงเสียง(Range)ที่มีตัวโน้ต ต่ำ - กลาง - สูงมากกว่า มีคำสั้นคำยาว เสียงร้องมีหนักมีเบา ในทางเทคนิคการทำงานของส่วนต่างๆที่ทำให้เกิดเสียงร้องต้องใช้ศักยภาพที่สูงกว่า การร้องเพลงให้ได้ดีจึงต้องมีการฝึกฝนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการควบคุมการใช้เสียงให้ได้อย่างที่ใจต้องการ  เพิ่มตัวโน้ตให้มากพอกับการรองรับท่วงทำนองที่สร้างสรรค์ขึ้น ถ่ายทอดอารมณ์และความรู้สึกให้ผู้ฟังคล้อยตามอย่างเป็นธรรมชาติและมีความสุข เปล่งเสียงร้องได้โดยไม่ทำให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพเสียง

เทคนิคการใช้เสียง ( Vocal Technique ) คืออะไร  

   ทำไมต้องเรียนเทคนิคการใช้เสียง การเรียนเทคนิคการใช้เสียงคือเรียนเพื่อที่จะฝึกควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อสายเสียงเเละอวัยวะต่างที่เกี่ยวข้องกับการออกเสียง ให้อยู่ในทิศทางที่ถูกต้องไม่ทำร้ายหรือบั่นทอนสุขภาพเสียงของเราขณะที่ร้องหรือพูด วิธีการคือฝึกร้องผ่านแบบฝึกหัดพิเศษตามสเกลเสียงเปียโน โดยครูที่มีความรู้เฉพาะทางด้านนี้ เพื่อเเก้ไขปัญหาที่เกิดจากการใช้เสียง การพัฒนาและเพิ่มประสิทธิภาพ หรือแม้แต่ช่วยยืดอายุการใช้งานของเสียงให้มีความเเข็งเเรงคงที่ ไม่ใช่สามวันดีสี่วันแย่อย่างที่กล่าวมาข้างต้น มีคำถามที่มักจะถามกันอยู่บ่อยๆว่าเรียนเเล้วมันจะทำให้เสียงสูงขึ้นมั้ย เสียงหนูมันเบาฝึกให้มันดังขึ้นแข็งเเรงชึ้นได้รึปล่าว ร้องเพี้ยน ร้องดังจนเกิดความเคยชิน ,ร้องเบาไม่เป็นขาดความอ่อนหวาน, ทำลูกคอไม่ได้, เสียงเป็นลมร้องเเล้วเหนื่อย, ลมไม่พอ, ร้องเเล้วเจ็บคอ, มันรู้สึกร้องเค้นๆอั้นๆยังไงไม่รู้, อ้อ! มีอาการเสียงปลิ้นด้วยครับ,หรือแม้กระทั่งช่วงเสียงแตกของวัยรุ่น คำถามเหล่านี้แก้ไขได้หมดแก้ไขได้จริง ที่สำคัญเป็นพื้นฐานรองรับการร้องเเนวเพลงต่างๆไม่ว่าจะเป็น ป๊อบ,คลาสสิค, แจ๊ส,ลูกทุ่ง,ลิเก,หมอลำ ฯลฯ มีอีกคำถามที่มักถามกันบ่อยๆคือ มันต้องเรียนนานไหม บอกตรงๆว่าขึ้นกับปัจจัยหลายอย่างเช่น ตัวนักเรียนเองที่มีพื้นฐานมาไม่เท่ากัน ความเข้าใจ ความตั้งใจ ความสม่ำเสมอในการฝึกฝนเหล่านี้เป็นต้น
    ปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับการใช้เสียงของแต่ละคนแตกต่างกัน สำหรับครูไก่แล้วการร้องเพลงช่วยพัฒนาในด้านของฝั่งที่เรียกว่า สไตล์ การที่เราชื่นชอบคุ้นเคยคลุกคลีอยู่กับแนวเพลงใดเราก็จะถนัดในแนวเพลงนั้น แต่การพัฒนาในเรื่องการควบคุมการใช้เสียงต้องใช้วิธีการเรียนรู้ผ่านวิธีการฝึกเทคนิคการใช้เสียงผ่านแบบฝึกหัดที่ออกแบบเพื่อแก้ไขปัญหาของเเต่ละคน สำหรับครูไก่การฝึกเทคนิคการใช้เสียงเท่านั้นถึงจะตอบโจทย์ เกี่ยวกับเรื่องการแก้ไขปัญหา,การพัฒนาและการดูแลรักษาเสียง

ใครควรฝึกเทคนิคการใช้เสียง?

    บางครั้งเกิดความลังเลในตัวผู้สนใจที่จะเรียนเทคนิคการใช้เสียงว่า มันคืออะไร? เหมาะสมกับตัวเราหรือไม่? การเรียนเทคนิคการใช้เสียงนั้นเหมาะกับใครบ้าง?
     หน้าที่หลักที่สำคัญของเทคนิคการใช้เสียงได้แก่ ช่วยแก้ปัญหาการใช้เสียงให้กับผู้ที่มีปัญหาการใช้เสียง , เร่งพัฒนาประสิทธิภาพในการใช้เสียงสำหรับผู้ที่อยู่ในช่วงการพัฒนา และเป็นเครื่องมือในการดูแลรักษาเสียงให้ใช้ได้อย่างต่อเนื่องไม่ก่อให้เกิดปัญหากับการใช้เสียง ของผู้ที่ต้องใช้เสียงเป็นประจำ ไม่ว่าจะด้วยหน้าที่หรืออาชีพที่ดำเนินอยู่ก็ตาม
    ท่านที่มีความสนใจเรื่องเทคนิคการใช้เสียง สามารถเรียนรู้และฝึกฝนได้ทุกคนและทุกอาชีพ โดยเฉพาะอาชีพที่ต้องใช้เสียงประกอบกิจกรรมในแต่ละอาชีพโดยตรง เช่น นักร้อง, ดารานักแสดง, นักพูด, โฆษกนักจัดรายการวิทยุ, นักพากษ์, พิธีกร, วิทยากร ,ครูอาจารย์ที่ต้องใช้เสียงอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานานๆในแต่ละวัน แม้กระทั่งพ่อค้าแม่ค้าที่ต้องใช้เสียงเรียกลูกค้า เชียร์แขก อย่างนี้เป็นต้น

  สมดุลย์แห่งเสียง (Vocal Balance)

   คือหลักการสำคัญที่ครูไก่นำมาเป็นเป้าหมายเบื้องต้นในการฝึกเทคนิคการใช้เสียง เพื่อนำไปใช้ในการร้องเพลง ศิลปะการฝึกเทคนิคการใช้เสียงเน้นย้ำในการสร้างสมดุลที่ถูกต้องระหว่างการทำงานของสายเสียงและลมในแต่ละระยะของการฝึก บวกกับการทำงานของกล้ามเนื้อที่เกี่ยวข้องกับการใข้เสียงให้เป็นไปในทิศทางที่เหมาะสม เพื่อให้เกิดเสียงที่ไพเราะก้องกังวาลน่าฟังนอกจากนี้ยังมีปัจจัยย่อยอีกหลายอย่างที่ต้องนำมาประกอบการพัฒนาเพื่อให้ได้คุณภาพเสียงร้องที่ดี
   นักเรียนที่เรียนกับครูไก่จะต้องถูกประเมินพฤติกรรมการใช้เสียงเป็นเบื้องต้นและวิเคราะห์ถึงแนวโน้มการใช้เสียงว่าอยู่ในประเภทใดเสียก่อน ความเคยชินในการใช้เสียงของนักเรียนแต่ละท่านจะต้องถูกปรับเปลี่ยนไปในทิศทางใด ด้วยเครื่องมือ(แบบฝีกหัด)ชนิดไหน เพื่อให้ถึงเป้าหมายได้เร็วที่สุด การจำแนกนักเรียนก็ใช้หลักการสมดุลย์ของเสียงนี้เช่นกัน

เสียงพูด เสียงร้องเกิดขึ้นได้อย่างไร ?

   เสียงพูดเเละเสียงร้องเกิดจากการสั่นของสายเสียง(Vocal cord) โดยมีลมที่ออกจากปอดเป็นปัจจัยสำคัญทำให้สายเสียงสั่นกระพือ เกิดเป็นคลื่นเสียงไปก้องตามโพรงต่างๆ เช่น โพรงหน้าอก โพรงปาก โพรงจมูก หรือโพรงกระโหลกของเรา ต่อจากนั้นก็มีการประดิษฐ์ให้เป็นคำเพื่อใช้ในการสื่อสาร ไม่ว่าจะเป็นการพูดหรือการร้องเพลง อวัยวะส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดเสียง ได้แก่

การหายใจ (Breathing)

   เป็นเรื่องปกติของการสอนร้องเพลงที่ต้องมีการพูดถึงขบวนการจัดการเรื่องการหายใจ ในแง่มุมของครูไก่จะสังเกตุจากนักเรียนก่อนว่ามีการหายใจที่เหมาะสมถูกต้องหรือเปล่าเช่น หายใจมีเสียงดัง ยกหน้าอก แหงนหน้าขึ้นขณะหายใจ มีอาการเกร็งของร่างกายส่วนใดส่วนหนึ่งจนเป็นอุปสรรคกับการใช้เสียงร้องเพลงหรือไม่ กรณึนี้ถ้ามีอาจต้องมีการแนะนำและแก้ไขเป็นเบื้องต้น  แต่ถ้าการหายใจของนักเรียนเป็นปกติไม่มีอาการดังกล่าวให้ปรากฎ ครููไก่จะปล่อยไปก่อน แต่อย่างไรก็ตามการหายใจที่เหมาะสม ครูไก่ขอแนะนำดังนี้
  • วางท่าทางที่เหมาะสมก่อน ทั้งนั่งและยืนลำตัวตั้งตรง หลังไม่งอ ไหล่ไม่ห่อลู่ไปด้านหน้าหรือ แอ่นไปด้านหลัง เอียงลาดไปข้างใดข้างหนึ่ง ไม่แหงนหน้าขณะหายใจ
  • เอามือวางที่หน้าท้องเพื่อสังเกตุการเคลื่อนตัวยุบลง และพองออกของหน้าท้อง
  • กำหนดลมหายใจออกให้แขม่วหน้าท้อง ยุบเข้า ให้นิ่งและนาน ช้าๆอย่าเกร็งหน้าท้องนะครับ
  • กำหนดลมหายใจเข้าให้หน้าท้อง พองออก กักลมไว้ชั่วขณะไม่เกร็ง ไม่เบ่งหรืออั้นแล้วหายใจออกช้าๆ(2-3ครั้ง)
  • หายใจเข้าทางปากหรือจมูกให้เร็วขึ้น ระมัดระวังการหายใจเข้าทางปากอย่าให้เเรงและดังเกินไปเพราะอาจทำให้สำลักน้ำลาย หรือบางทีหายใจเเรงอาจทำให้คอแห้งได้
   หลังจากทำจนชินแล้วการหายใจไม่ควรมีเสียงดัง(เว้นแต่ใช้ในเพลงเพื่อแสดงอารมณ์เพลง) ในระยะแรกๆไม่ควรทำติดต่อกันมากเกินไปเพราะอาจทำให้เกิดอาการหน้ามืด หรือเวียนศรีษะได้
   เสียงพูดหรือเสียงร้องเกิดขึ้นขณะที่เราหายใจออก ลมหายใจออกจะเป็นตัวทำให้สายเสียงสั่นกระพือเกิดเป็นเสียง ให้นักเรียนพูดสระอู ลากเสียงให้ยาว นานและนิ่งสังเกตุการวางท่าทางและขั้นตอนการหายใจ ดังที่ได้อธิบายตามขั้นตอนข้างต้น เสียงสระอูที่ลากยาวต้องมีความคมชัดไม่ดังหรือแรงเกินไป ฟังดูไม่เค้นหรือเป็นลมแหบพล่า สังเกตุหน้าท้องที่ยุบลงขณะหายใจออก และพองออกขณะหายใจเข้า ฝึกทุกวันจนเกิดเป็นความเคยชินและไม่วิตกกังวลขณะที่ใช้เสียง

กล่องเสียง(The Larynx)

    กล่องเสียงหรือที่เรารู้จักกันดีมีชื่อเรียกได้หลายอย่างเช่นAdam's Apple ,Voice boxส่วนในภาษาไทยเรียกว่า กล่องเสียงหรือลูกกระเดือก จะมองเห็นชัดในผู้ชาย ตั้งบริเวณอยู่ใต้คางลงมานิดนึงเมื่อใช้นิ้วสัมผัสจะรู้สึกได้ถึงความนูนของกล่องเสียงบริเวณลำคอ ในผู้หญิงจะเห็นไม่ชัดเท่าไหร่ จากโพรงปากลึกลงไปจะถูกแยกเป็น2ช่องทาง ทางหนึ่งแยกเป็นหลอดลมส่วนอีกทางหนึ่งแยกเป็นหลอดอาหาร หลอดลมนั้นอยู่ด้านหน้ามีหน้าที่นำลมไปสู่ปอด หลอดอาหารที่อยู่ด้านหลังมีหน้าที่นำอาหารไปสู่กระเพาะอาหารระหว่างทางแยกนี้จะมีวาวล์ปิด-เปิดอยู่เหนือหลอดลม เรียกว่าEpiglottis กล่องเสียงประกอบขึ้นจากกระดูกอ่อน เส้นเอ็น กล้ามเนื้อ และเยื่อหุ้มเซลบางๆ ข้างในกล่องเสียงคือที่ตั้งของสายเสียงวางตัวในลักษณะขนานกับพื้น ยึดติดจากส่วนหน้าไปหาส่วนหลัง ลักษณะเหมือนตัววี ฐานตัววีจะติดอยู่ด้านหน้า ปิด - เปิดได้
    ในความเป็นจริงบทบาทสำคัญและหน้าที่หลักของกล่องเสียง คือการทำงานร่วมกับกล้ามเนื้อที่อยู่รอบนอกกล่องเสียง ลองใช้มือแตะบริเวณลูกกระเดือกหรือกล่องเสียง แล้วกลืนน้ำลายจะรู้สึกว่ากล่องเสียงจะขยับตัวสูงขึ้นเพื่อทำหน้าที่กลืนน้ำลาย ในขณะเดียวกันก็จะมีวาวล์ปิด-เปิดที่เรียกว่าEpiglottis ปิดหลอดลมไว้เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำลายหรืออาหารลงไปในหลอดลมขณะที่กลืนอาหาร นอกจากหน้าที่ของการกลืนแล้วกล่องเสียงยังมีอีกหลายหน้าที่ เช่น ระบบหายใจ และระบบ Effort Closure ซึ่งหมายถึงการทำงานของกล่องเสียงในขณะไอหรือจามจะเห็นได้ว่าการทำหน้าที่ของกล่องเสียงมีหลายอย่างมากถ้าเราควบคุมให้กล่องเสียงอยู่นิ่งได้ ไม่ขยับตัวสูงขึ้นหรือต่ำลงในขณะที่ใช้เสียง จะทำให้เราใช้เสียงมีประสิทธิภาพมากขึ้น


สายเสียง, เส้นเสียง(Vocal Cords / Vocal Fold / Vocal Muscle)

เป็นตัวจักรสำคัญที่ทำให้เกิดเสียงขึ้นมา มีลักษณะเป็นตัว V ขนานกับพื้น มีความสั้น-ยาวประมาณ 2 ซม. ผู้ชายจะมีความยาว และหนามากกว่าของผู้หญิง เมื่อสมองสั่งว่าต้องการใช้เสียง สายเสียงคู่นี้ ก็จะเข้าแนบกันโดยมีอีกหนึ่งตัวแปรที่สำคัญคือลม ที่ออกจากปอด

ความรู้สึกทางกายภาพ (Resonance)

    ความจริงเสียงของเราไม่ได้เกิดจากท้อง บริเวณหน้าอกหรือในศรีษะ แต่เกิดจากการสั่นของสายเสียงบริเวณกลางลำคอในกล่องเสียงหรือที่เรารู้จักกันดีนั่นคือ"ลูกกระเดือก"จากนั้นสายเสียงจะปรับระยะการทำงานเพื่อให้ได้เสียง สูง-ต่ำ คลื่นเสียงที่ได้จะถูกขยายและปรับเปลี่ยน(Amplifie and Modifie)ให้เป็นคำพูดหรือคำร้องก่อนจะออกจากปากให้ได้ยินกัน ดังนั้นความหมายของ ความรู้สึกทางกายภาพ (Resonance) คือ คลื่นเสียงที่เกิดจากการสั่นของสายเสียงบริเวณลำคอ ไปก้องสะท้อนตามโพรงต่างๆในร่างกายนั่นเองไม่ว่าจะเป็น โพรงหน้าอก,โพรงปาก,โพรงจมูก,โพรงกระโหลก ที่แตกต่างกันซึ่งทำให้แต่ละคนมีเสียงที่เป็นเอกลักษณ์แตกต่างกันไปเช่นกัน
    วิธีการในการสอนจะไม่เน้นถึงรายละเอียดที่กล่าวมาแล้ว แต่จะให้นักเรียนฝึกผ่านเครื่องมือ(Special Exercise)ที่ออกแบบให้กับนักเรียนแต่ละคน ตามผลการวิเคราะห์การใช้เสียงเบื้องต้นของนักเรียน ให้นักเรียนได้เรียนรู้และค้นพบด้วยตัวเองในการร้องผ่านจุดเชื่อมต่อของเสียง(Mix)ได้อย่างราบเรียบไม่มีปัญหาและดีต่อสุขภาพเสียง

เสียงต่ำ Chest Tone หรือ Chest Voice

หมายถึง เสียงที่มีความดัง, หนา, ก้องกังวาน และสัมผัสได้ถึงความสั่นสะเทือน ตรงบริเวณหน้าอก ลำคอ หรือในโพรงปาก โดยส่วนใหญ่มนุษย์ใช้เสียงนี้ในการสนทนาสื่อสาร  หรือใช้พูด
เป็นที่ทราบกันดีว่า Chest Tone หรือ Chest Voice นั้นเรามักจะคุ้นเคยกันในช่วงเสียงพูดโดยทั่วไปผู้ชาย มีตำแหน่งตัวโน้ตอยู่ในช่วงที่ต่ำกว่า Eb4 (Middle C = C4) ส่วนในผู้หญิงจะอยู่ในช่วงโน้ตที่ต่ำกว่าA4 ในกรณีที่เป็นผู้หญิงเสียงเล็กแหลม อาจมีโน้ตChest สูงถึงBb4ก็เป็นได้

     ความรู้สึกทางกายภาพ(Resonance)ที่สัมผัสถึงเสียงต่ำ(Chest Tone)ได้คือการวางมือไว้ที่หน้าอกแล้วเปล่งเสียง เออ...ในช่วงโน้ตต่ำๆ จะรู้สึกถึงแรงสั่นของคลื่นเสียงมากระทบที่ฝ่ามือ ครั้นเมื่อไล่เสียงไปหาโน้ตสูงขึ้นแรงสั่นจากคลื่นเสียงที่กระทบฝ่ามือจะค่อยๆลดลง
     ในผู้ชายจะมีช่วงเสียงต่ำ(Chest)ที่ยาวกว่าผู้หญิง

เสียงสูง Head Tone หรือ Head Voice

     เกิดจากการปรับสภาพการทำงานของสายเสียงทำให้เกิดความถี่ของเสียงสูงขึ้น เกิดเป็นความรู้สึกที่เปลี่ยนไป ถ้าร้องด้วยวิธีที่ถูกต้อง นั่นคือสมดุลระหว่างสายเสียงกับลมที่พอดี จะเกิดเป็นความรู้สึกที่เปลี่ยนไป 
     ความรู้สึกทางกายภาพ (Resonance)ที่สัมผัสถึงเสียงสูง (Head Tone) จะมีความเบา, บางและที่สำคัญเปลี่ยนที่ก้องกังวานไปยังบริเวณโพรงกระโหลก ดังนั้นเราจึงไม่สามารถสัมผัสถึงอาการสั่นสะเทือนที่บริเวณหน้าอกอีกต่อไป เสมือนหนึ่งว่าคลื่นของเสียงได้เดินทางลึกเข้าไปในปาก แล้วพุ่งขึ้นไปบนกระโหลกเรา ลองร้องคำว่า วู้...วู้...ด้วยเสียงหลบที่เล็กแหลม ก็สามารถรับรู้ความรู้สึกด้งที่ได้กล่าวมา ต่ำแหน่งตัวโน้ต Head Voice ของผู้ชายเริ่มจาก G4 ขึ้นไป ส่วนผู้หญิงเริ่มจาก C#5ขึ้นไป

Bridge(จุดเชื่อมต่อเสียง)

    คือช่วงเสียงที่อยู่ระหว่าง Chest Voice และ Head Voice คนส่วนใหญ่มักมีปัญหาที่เสียง Chest กับ Head ไม่เชื่อมต่อกันจึงทำให้การร้องเพื่อที่จะผ่านในช่วงนี้จะยากมาก ถ้าบังคับการร้องไม่ได้จะเกิดอาการต่างๆตามมา เช่นต้องร้องเค้น ตะเบ็ง ตะโกน  ,ร้องกลายเป็นเสียงหลบหรือเสียงหายออกเป็นลมๆ , เสียงปลิ้น ร้องเพี้ยน ฯลฯ
    Bridge หรือจุดเชื่อมต่อของเสียงมีหลายตำแหน่งเรากำหนดให้เป็น 1st Bridge(fist Bridge),2nd, 3rd, 4th และ 5th ในผู้ชายจะมีจุดเชื่อมต่อ 4จุด ส่วนในผู้หญิงจะมี 5 จุดเชื่อมต่อ
   ในช่วง 1st Bridgeของผู้ชายอยู่ในช่วง Eb4(D#4),E4,F4และF#4(Gb4) ส่วน1stBridge ของผู้หญิงจะอยู่ในช่วง A4, A#4(Bb4), B4, C5
    ในช่วง 2nd Bridgeของผู้ชายอยู่ในช่วง A4, A#4(Bb4), B4, C5 ส่วน 2ndBridge ของผู้หญิงจะอยู่ในช่วง Eb5(D#5), E5,F5และF#5(Gb5)
    ในช่วง 3rd Bridgeของผู้ชายอยู่ในช่วง Eb5(D#5), E5,F5และF#5(Gb5) ส่วน 3rdBridge ของผู้หญิงจะอยู่ในช่วง A5, A#5(Bb5), B5, C6
     ในช่วง 4th Bridgeของผู้ชายอยู่ในช่วง A5, A#5(Bb5), B5, C6  ส่วน 4thBridge ของผู้หญิงจะอยู่ในช่วง Eb6(D#6), E6,F6และF#6(Gb6)
    ความรู้สึกทางกายภาพ (Resonance)ที่สัมผัสถึงในช่วงจุดเชื่อมต่อ1st Bridgeนั้นจะยากสักหน่อย เอาเป็นว่าเป็นช่วงเชื่อมต่อระหว่างเสียงต่ำ Chest Voice และเสียงสูง Head Voice ซึ่งก็ไม่ได้หมายถึงทุกคนเพราะบางคนอาจมีเสียงที่สูงในช่วง1st Bridge อาจจะไม่ก่อผลกระทบและร้องผ่านไปโดยง่าย

หมายเหตุ ความรู้สึกทางกายภาพที่เรารู้สึกได้นี้ไม่นำมาเป็นแกนหลักในการฝึกเสมือนหนึ่งเป็นทางลัดเผื่อค้นพบวิธีการใช้เสียงที่ดีต่อสุขภาพเสียงของเรา เพราะมันเป็นผลจากการที่กล้ามเนื้อสายเสียงของคุณทำงานได้อย่างสมดุลย์ และถูกต้องแล้วต่างหาก

Mix

จากประสบการณ์ของครูไก่ที่เรียนมาเสียงMixจะถูกกำหนดเป็นช่วง โดยเฉพาะในช่วงรอยต่อที่1ของเสียง(1st Bridge) และก็เข้าใจแบบนั้นเรื่อยมา ขณะเดียวกันก็มีคำถามที่ค้างในใจมาตลอดเช่นเดียวกันว่า แล้วจุดเชื่อมต่ออื่นล่ะจะเรียกว่าเสียงอะไร ครูไก่จึงขอทำความเข้าใจด้วยเหตุผลส่วนตัวขอกำหนดให้คำว่าMixในความเข้าใจของครูไก่นั้นเป็นอาการในการปรับสมดุลย์ของเสียง ไม่ใช่ประเภทเสียงเพื่อไว้เรียกชื่อว่าเป็น Chest, Head หรือ Mix เนื่องจากในการออกเสียงทุกคำพูดทุกคำร้อง ต้องมีการMixหรือปรับสมดุลย์ระหว่างลมกับเนื้อเสียงอยู่ตลอด ว่าคุณต้องการให้เสียงมีลมเยอะมากน้อยเเค่ไหน ไม่ว่าในช่วงเสียงต่ำ(Chest) หรือช่วงเสียงสูง (Head) ให้มีความเข้มของเนื้อเสียงตามใจเราได้อย่างไร โดยเฉพาะจุดเชื่อมต่อ(Bridge) ต่างๆจะต้องถูกปรับสมดุลย์ให้ร้องผ่านไปได้โดยไม่ก่อให้เกิดปัญหาในการใช้เสียงหรือในการออกแบบเสียงร้องในเพลงแบบต่างๆ




  

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น